ข้อบังคับของสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย

ฉบับแก้ไขวันที่ 19 ตุลาคม 2565

หมวดที่ 1 ความทั่วไป

ข้อ 1. สมาคมนื้มีชื่อว่า สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่ง ประเทศไทย ย่อว่า ส.ท.จ. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai Association of Orthodontists ย่อว่า Tha.A.O.

ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคมฯมีลักษณะเป็นรูปหัวใจที่มีเครื่องหมาย ลูกศรอยู่ตรงกลาง ภายในกรอบวงกลมที่มีชื่อ สมาคมทั้งไทยและอังกฤษอยู่ ล้อมรอบ

ข้อ 3. สำนักงานของสมาคมฯ ตั้งอยู่ ณ ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขที่ 34 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ เพื่อ

4.1 ส่งเสริมและเผยแพร่วิชาการ การศึกษาและการวิจัยในสาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน

4.2 ส่งเสริมความสามัคคีของสมาชิก และเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพ

4.3 เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทันตกรรมจัดฟันให้กับประชาชน

4.4 ช่วยเหลือสังคมอันเป็นสาธารณประโยชน์

4.5 บำรุงกิจกรรมนันทนาการแก่สมาชิก

4.6 สนับสนุน ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

หมวดที่ 2 สมาชิก

ข้อ 5. สมาชิกของสมาคมมี 5 ประเภท คือ

5.1 สมาชิกสามัญ

5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์

5.3 สมาชิกสมทบ

5.4 สมาชิกนักศึกษา

5.5 สมาชิกนานาชาติ

ข้อ 6. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

6.1 สมาชิกสามัญ

สมาชิกสามัญจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

6.1.1 เป็นทันตแพทย์ที่ถือสัญชาติไทย และได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม ไม่อยู่ในระหว่างถูกพัก หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม

6.1.2 สำเร็จการศึกษา หรือการฝึกอบรมทางวิชาทันตกรรมจัดฟันในหลักสูตร และสถาบันที่ทันตแพทยสภารับรอง หรือหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับรอง โดยผ่านการประเมินคุณภาพระดับสถาบัน และเป็นหลักสูตรเต็มเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันในประเทศ และ ด้วยความเห็นชอบจากสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย

6.1.3 สำเร็จการศึกษา หรือการฝึกอบรมทางวิชาทันตกรรมจัดฟันจากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่างประเทศ โดยเป็นหลักสูตรเต็มเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และหลักสูตรเป็นที่รับรองโดยสมาคมทันตแพทย์จัดฟันของประเทศที่สถานศึกษานั้น ๆ ตั้งอยู่ และด้วยความเห็นชอบจากสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย

6.1.4 ทันตแพทย์ที่ได้รับอนุมัติบัตร หรือวุฒิบัตรสาขาทันตกรรมจัดฟันจากทันตแพทยสภาแห่งประเทศไทย

6.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์

คือ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ หรือ ผู้มีอุปการคุณต่อวงการทันตกรรมจัดฟัน ซึ่งคณะกรรมการของสมาคมฯ ลงมติเชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ

6.3 สมาชิกสมทบ

คือ ทันตแพทย์ที่มีความสนใจในวิชาทันตกรรมจัดฟัน และมีสมาชิกสามัญรับรองไม่น้อยกว่า 2 คน และ คณะกรรมการมีมติเห็นสมควรรับเข้าเป็นสมาชิกได้

6.4 สมาชิกนักศึกษา

จะต้องเป็นนักศึกษาหลังปริญญาสาขาทันตกรรมจัดฟันในหลักสูตรและสถาบันที่ทันตแพทยสภารับรอง หรือหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับรอง โดยผ่านการประเมินคุณภาพระดับสถาบัน และเป็นหลักสูตรเต็มเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันในประเทศ โดยมีหัวหน้าภาควิชา หรือประธานหลักสูตรของสถานศึกษานั้น ๆ ลงนามรับรอง และคณะกรรมการของสมาคมฯ มีมติเห็นสมควรรับเข้าเป็นสมาชิกได้

การพ้นสถานะสมาชิกนักศึกษา

6.4.1 เมื่อสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรทันตกรรมจัดฟันข้างต้น

6.4.2 เมื่อลาออกจากหลักสูตรทันตกรรมจัดฟันข้างต้น และหากเข้าเรียนในหลักสูตรทันตกรรมจัดฟันในสถาบันอื่นที่ได้รับการรับรองตามข้อบังคับสมาคมฯ จะต้องดำเนินการสมัครสมาชิกนักศึกษาใหม่

6.5 สมาชิกนานาชาติ

คือ ทันตแพทย์จัดฟันต่างชาติที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯ โดยบุคคลนั้นจะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมฯ หรือชมรมทันตแพทย์จัดฟัน/ทันตกรรมจัดฟันของประเทศสมาชิกของ Asian Pacific Orthodontic Society (APOS) หรือ World Federation of Orthodontists (WFO)

ข้อ 7. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก

7.1 มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในข้อ 6

7.2 ให้ยื่นใบสมัครต่อนายทะเบียนของสมาคมฯโดยมีสมาชิกสามัญรับรอง 2 คน

7.3 สมาชิกภาพจะสมบูรณ์เมื่อคณะกรรมการดำเนินงานอนุมัติรับ และได้ชำระค่าบำรุงแล้ว

ข้อ 8. ค่าลงทะเบียนเป็นสมาชิกและค่าบำรุง

8.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้าและค่าบำรุงประจำปี

8.2 สมาชิกสามัญ ผู้สมัครจะต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกตลอดชีพเป็นจำนวนเงิน 7,000 บาท

8.3 สมาชิกสมทบ ผู้สมัครจะต้องชำระ

ค่าลงทะเบียนแรกเข้า 1,000 บาท

ค่าบำรุงประจำปี ปีละ 500 บาท ตามปีปฏิทิน และไม่สามารถเรียกคืน หากมีการเปลี่ยนสถานะสมาชิกกลางปี

ในกรณีสมาชิกสมทบค้างชำระค่าบำรุงประจำปี การต่ออายุจะต้องเสียค่าบำรุงย้อนหลังและหาก

ค้างค่าบำรุงเกิน 2 ปี จะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้าใหม่

8.4 สมาชิกนักศึกษา ผู้สมัครจะต้องชำระ

ค่าลงทะเบียนแรกเข้า 500 บาท

ค่าบำรุงประจำปี ปีละ 500 บาท ตามปีปฏิทิน และไม่สามารถเรียกคืน หากมีการเปลี่ยนสถานะสมาชิกกลางปี

8.5 สมาชิกนานาชาติ สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้คราวละ 2 ปี โดยจะต้องชำระ 

ค่าลงทะเบียนแรกเข้า 50 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าบำรุงประจำปี 2 ปี (1 รอบ) เป็นเงิน 50 ดอลลาร์สหรัฐ

ในกรณีสมาชิกค้างชำระค่าบำรุงประจำปีไม่เกิน 2 รอบ (4ปี) การต่ออายุจะต้องเสียค่าบำรุงประจำปีย้อนหลัง และหากค้างค่าบำรุงเกิน 2 รอบ (4 ปี) จะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้าใหม่

ข้อ 9. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้

9.1 สมาชิกมีสิทธิและได้รับประโยชน์ภายในขอบเขตของวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ

9.2 สมาชิกมีหน้าที่ให้ร่วมมือและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมฯ

9.3 สมาชิกมีสิทธิรับทราบข่าวสาร หรือเอกสารทางวิชาการที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการสมาคมฯ ตราบที่ยังดำรงสมาชิกภาพของสมาคมฯ อยู่

9.4 สมาชิกมีสิทธิไต่ถามคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อตรวจเอกสารบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมฯ ได้

9.5 สมาชิกผู้ใดย้ายที่อยู่ ที่ทำงาน เปลี่ยนชื่อ นามสกุล ยศ อภิไธย ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

9.6 สมาชิกสามัญมีสิทธิเข้าประชุมใหญ่ประจำปี สมาชิกสามัญมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนคนละ 1 คะแนน

9.7 สมาชิกสามัญมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการ ให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

ข้อ 10. การขาดสมาชิกภาพ

10.1 ตาย

10.2 ลาออก

10.3 สมาชิกสมทบ หรือสมาชิกนานาชาติที่ขาดส่งค่าบำรุงประจำปีติดต่อกันเกินกำหนดตามข้อ 8.3 และ 8.5

10.4 กระทำตนเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือนำความเสียหายมาสู่สมาคมฯ และวิชาชีพ และคณะกรรมการมีมติให้ออก

10.5 เมื่อนักศึกษาหลังปริญญาสำเร็จการศึกษาหรือพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาจะถือว่าเป็นการสิ้นสภาพของสมาชิกนักศึกษาโดยปริยาย

 

หมวดที่ 3 การดำเนินกิจกรรมสมาคม

ข้อ 11. คณะกรรมการ ประกอบด้วย

1. นายก

2. อุปนายก

3. นายกสำรอง

4. เลขาธิการ

5. เหรัญญิก

6. นายทะเบียน

7. ประธานวิชาการ

8. ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่

9. สาราณียกร

10. กรรมการกลาง 6 ตำแหน่ง

ทั้งหมดรวมเป็น 15 คน

ข้อ 12. ที่มาของกรรมการ

12.1 นายกสมาคม มาจากนายกสำรองของคณะกรรมการสมาคมฯ ในวาระที่ผ่านมา

12.2 นายกสำรอง และอุปนายกได้จากการเลือกตั้งในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในปีสุดท้ายของวาระกรรมการชุดที่กำลังดำรงตำแหน่ง ขณะที่มีการประชุมใหญ่สามัญฯ

12.3 นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการ นอกเหนือจากนายกสำรอง และอุปนายก หากตำแหน่งกรรมการดังกล่าวต้องว่างลงก่อนหมดวาระ ให้แต่งตั้งสมาชิกสามัญคนหนึ่งคนใดเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างลงนั้น

12.4 คณะกรรมการดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี แต่ให้มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่จนกว่าการแต่งตั้งกรรมการ ชุดใหม่จะเสร็จสมบูรณ์

12.5 ในกรณีที่นายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระได้ ให้อุปนายกสมาคมทำหน้าที่ต่อจนหมดวาระ

12.6 นายกสมาคมสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาได้ตามที่เห็นสมควร กรณีที่มีจำนวนที่ปรึกษาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ให้คณะที่ปรึกษาเลือก 1 คน เพื่อดำรงตำแหน่ง “ประธานที่ปรึกษา”

ข้อ 13. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

13.1 บริหารกิจการของสมาคมฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ

13.2 ออกระเบียบ แก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิกระเบียบของสมาคมฯ ได้

13.3 จัดการทรัพย์สิน และดูแลผลประโยชน์ของสมาคมฯ

13.4 จัดการประชุมใหญ่สามัญปีละ 1 ครั้ง

13.5 จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อมีเหตุอันควร หรือตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอ ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

13.6 จัดการประชุมวิชาการ ตามความเหมาะสม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

13.7 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคมฯ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

 

หมวดที่ 4 การประชุม

ข้อ 14. การประชุมคณะกรรมการ

14.1 การประชุมคณะกรรมการดำเนินงานให้มีอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง

14.2 นายกสมาคมหรือกรรมการตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป จะเรียกประชุมคณะกรรมการได้เมื่อเห็นสมควร

14.3 การประชุมของคณะกรรมการแต่ละครั้งจะต้องมีกรรมการอยู่ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะ

เป็นองค์ประชุม

14.4 การลงมติ ให้ถือเสียงส่วนใหญ่ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้นายกสมาคมเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 15. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี

15.1 สมาคมจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี ปีละ 1 ครั้ง และจำนวนสมาชิกสามัญจะต้อง

ไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะเป็นองค์ประชุมได้

15.2 การลงมติ ให้ถือเสียงส่วนใหญ่ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้นายกสมาคมฯ เป็นเสียงชี้ขาด

15.3 การประชุมสามัญประจำปี ต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

- แถลงผลการดำเนินงานสมาคมฯ ในรอบปีที่ผ่านมา

- แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และงบดุลของสมาคมฯ

- เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี

- เลือกตั้งนายกสำรองและอุปนายกเมื่อครบกำหนดวาระ

15.4 สมาคมฯ สามารถจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้เมื่อมีเหตุอันควร หรือเมื่อสมาชิกสามัญเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอ โดยจำนวนสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม จะต้องไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ 16. การประชุมวิชาการจะจัดให้มีอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

 

หมวดที่ 5 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 17. สมาคมฯ อาจมีรายได้เพื่อดำเนินการดังนี้

17.1 เงินค่าจดทะเบียน และเงินค่าบำรุงจากสมาชิก

17.2 เงินอุดหนุน และเงินบริจาคที่สมาคมฯ ได้รับ

17.3 เงินรายได้อื่นๆ

ข้อ 18. เหรัญญิกมีหน้าที่ดูแลรักษาเงินของสมาคมฯ ให้มีสมุดบัญชี และหลักฐานแห่งการรับ – จ่าย และเก็บรักษาเงินไว้ ให้เหรัญญิกรายงานฐานะการเงินของสมาคมฯ ต่อคณะกรรมการทุกครั้งที่ได้มีการประชุมของคณะกรรมการ

ข้อ 19. การจ่ายเงินของสมาคมฯ ให้เป็นไปตามระเบียบ และวิธีการที่คณะกรรมการได้กำหนดขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่

ข้อ 20. เงินรายได้ของสมาคมฯ ให้นำฝากธนาคารไว้ในนามของสมาคมฯ การถอนเงินจากธนาคารให้นายกสมาคม หรืออุปนายกสมาคม และเหรัญญิกเป็นผู้ลงนามถอนร่วมกันทุกครั้ง

ข้อ 21. นายกสมาคมฯ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการสมาคมฯ

ข้อ 22. เหรัญญิกมีอำนาจในการเก็บเงินไว้ เพื่อการใช้สอยเบ็ดเตล็ดของสมาคมฯ ได้ไม่เกินคราวละ 10,000 บาท

ข้อ 23. ให้เหรัญญิกรายงานฐานะการเงินของสมาคมฯ ต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ข้อ 24. เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับ หรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้ทำการแทนพร้อมกับประทับตราของสมาคมฯ ทุกครั้ง

ข้อ 25. ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 26. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมฯ ได้

 

หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ และการเลิกสมาคม

ข้อ 27. การแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคมฯ อาจจะกระทำได้โดย

27.1 คณะกรรมการเป็นผู้เสนอ หรือ

27.2 สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน เข้าชื่อกันเสนอ

ข้อ 28. เมื่อมีการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนข้อบังคับของสมาคมฯ ให้เลขาธิการจัดพิมพ์ข้อความที่เสนอขอแก้ไข เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคมฯ นั้นไว้ และประกาศในเว็บไซต์ของสมาคมฯ ให้สมาชิกสมาคมฯ ทราบก่อนมีการประชุมใหญ่อย่างน้อย 15 วัน

ข้อ 29. เมื่อมีการประชุมใหญ่ให้คณะกรรมการนำข้อเสนอขอแก้ไข เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคมฯ นั้น เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ ด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิก ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่มาประชุม

ข้อ 30. เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกล้มสมาคมฯ จะต้องมีคะแนนเสียงให้เลิก 4/5 ของสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียง และมาประชุมโดยวิธีลงคะแนนลับ

ข้อ 31. ในการประชุมใหญ่ดังกล่าว ให้แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ด้วยว่า จะมีการพิจารณาเรื่องการเลิกสมาคมฯ

ข้อ 32. ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้งผู้ชำระบัญชี การชำระบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาเลิกสมาคมฯ และชำระบัญชี

ข้อ 33. เมื่อชำระบัญชีเสร็จ หากยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย

 

หมวดที่ 7 บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ 34. การตีความข้อบังคับของสมาคมฯ หากเป็นที่สงสัย ให้คณะกรรมการสมาคมฯ เป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 35. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับ เมื่อข้อบังคับของสมาคมมิได้กำหนดไว้ และหากมีข้อบังคับใดขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์