A Kick in The Teeth: เรื่องเศร้าในช่องปาก

“ยิ่งทันตแพทย์ทั่วไปเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเรียนลัดวิชาการจัดฟันมากขึ้นเท่าไร ความกังวลเรื่องความปลอดภัยของคนไข้ที่เข้ารับการจัดฟันก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น”

ทุกครั้งที่ ทพญ. สมจิต มองเข้าไปในปากของคนไข้รายใหม่ๆ เธอมักกังวลกับสิ่งที่อาจจะได้เจอ เพราะตลอด 6 ปีหลังที่เธอหันมาให้การรักษาด้านการจัดฟัน เธอได้เห็นการจัดฟันที่ไม่ถูกต้องมากกว่า 100 ครั้ง

“เราดูจากงานแล้วคิดว่าไม่น่าจะใช่ทันตแพทย์จัดฟัน”

ปัจจุบัน ทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟันในประเทศไทยมีเพียง 600 คนเท่านั้น และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดการเรียนการสอนเฉพาะทางเกี่ยวกับการจัดฟันก็มีจำนวนไม่มากนัก ทันตแพทย์ทั่วไปจำนวนไม่น้อยจึงตัดสินใจที่จะเรียนรู้ในเรื่องนี้ผ่านการศึกษาของเอกชน

จำนวนทันตแพทย์ทั่วไปที่เข้ารับร่วมหลักสูตรการอบรมระยะสั้นเพื่อให้สามารถจัดฟันได้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีหลัง นำไปสู่ความกังวลเรื่องความปลอดภัยของคนไข้จากทันตแพทย์จัดฟันที่ได้รับการศึกษาต่อในหลักสูตรจัดฟันที่ได้การรับรองอย่าง ทพญ. สมจิต ผู้ที่ขอให้ปกปิดชื่อและนามสกุลจริงเนื่องจากความอ่อนไหวของประเด็นนี้

ครั้งแรกที่เธอพบกับความผิดปกติเกี่ยวกับการจัดฟัน คือในปี 2550 เมื่อเริ่มคบกับชายหนุ่มที่จะกลายมาเป็นสามีของเธอในภายหลัง ขณะที่ ทพญ. สมจิต ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทันตแพทย์ทั่วไปกำลังขูดหินปูนให้กับแฟนหนุ่มของเธออยู่ ก็สังเกตพบอาการที่เรียกว่า malocclusion หรือ การสบฟันที่ผิดปกติ

เธอจึงตัดสินใจไปพร้อมเขาเมื่อเขานัดจัดฟันครั้งต่อไป ก่อนจะพบว่าทันตแพทย์คนนั้นไม่ใช่ทันตแพทย์จัดฟัน เธอจึงรีบพาเขาไปพบกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่นโดยทันที

หลังจากเรียนจบเป็นทันตแพทย์จัดฟันอย่างถูกต้องแล้ว ทพญ. สมจิตจำได้ว่ามีคนไข้นับร้อยที่เปลี่ยนจากทันตแพทย์คนอื่น ๆ มาหาเธอ เนื่องการให้บริการจัดฟันที่ต่ำกว่ามาตรฐานจากทันตแพทย์ที่ไม่ได้เป็นทันตแพทย์จัดฟัน

“ปัจจุบันมีคนไข้หลายคนมาหาหมอ แล้วตกใจที่หมอท่านเดิมไม่ใช่ทันตแพทย์จัดฟันโดยตรง”

 

คลินิกชั้นสอง

เมื่อ ทพ. โจ ผู้ขอให้เอ่ยถึงได้เฉพาะชื่อเล่น เปิดคลินิกทำฟันของตัวเองบนถนนพระรามสอง เมื่อปี 2531 เขาตั้งใจว่าจะทำงานขูดหินปูน ถอนฟัน ไปจนถึงอุดฟัน โดยใช้ผู้ช่วยเพียงไม่กี่คน เนื่องจากที่ตั้งของคลินิกที่อยู่บริเวณชานเมืองของกรุงเทพฯ ทำให้ไม่น่าจะทำรายได้ได้มากนัก แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาตัดสินใจรับทันตแพทย์ที่ทำงานจัดฟันเข้ามาทำงานในคลินิกด้วย เมื่อ 5 ปีก่อน

“ถ้ายังเป็นแบบเดิม คงเอาตัวไม่รอด แต่ถึงวันนี้หลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว เพราะคลินิกทำฟันไหนที่ไม่รับจัดฟันด้วยมักถูกมองว่าเป็นคลินิกหมอจีน หรือหมอชั้นสอง”

ในขณะที่ทันตแพทย์จัดฟันส่วนใหญ่นิยมทำงานในโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หรือคลินิกทำฟันที่ตั้งอยู่ในเขตใจกลางเมืองมากกว่า ทพ. โจ จึงตัดสินใจที่จะจ้างทันตแพทย์ซึ่งไปอบรมจัดฟันมาเพิ่มเติม มาทำงานในคลินิกของเขา ด้วยการแบ่งรายได้ในสัดส่วนที่สูงกว่าการทำฟันอย่างอื่นให้แก่ทันตแพทย์ที่ทำงานจัดฟัน

แต่ก็เหมือนกับเจ้าของคลินิกทำฟันคนอื่นๆ ที่ไม่พอใจสัดส่วนรายได้นี้ เขาจึงตัดสินใจลดลงการพึ่งพาทันตแพทย์อื่น ด้วยการลงทะเบียนเรียนหลักสูตรการอบรมว่าด้วยการจัดฟันด้วยตัวเองแทน

“คนที่เข้าร่วมการอบรมครั้งนั้นจะได้เห็นหลักการปฏิบัติทั่วๆ ไปเกี่ยวกับการจัดฟัน ที่ทำให้ใครก็คิดว่าตัวเองก็เป็นทันตแพทย์จัดฟันได้ และเทรนด์เหล่านี้กำลังมา”

การอบรมครั้งนั้นใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปี โดยจัดขึ้นในคลินิกแห่งหนึ่งย่านงามวงศ์วาน จ.นนทบุรี และมีอาจารย์เกษียณจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพเป็นวิทยากร โดยผู้เข้าอบรมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 500,000 บาท ที่รวมค่าอุปกรณ์กว่า 100,000 บาทเอาไว้แล้ว

“วิทยากรสอนได้ดี ทำให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกว่ามันไม่ยากเกินเอื้อม”

แม้เขาจะสำเร็จการอบรมนั้นตั้งแต่ 4 ปีก่อน แต่ก็เพิ่งให้บริการจัดฟันเมื่อปีที่ผ่านมาที่คลินิกทำฟันแห่งใหม่ของเขาย่านลาดพร้าว กรุงเทพฯ

“ผมยังไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองเท่าไร ผมกลัวจะทำอะไรผิดพลาด”

“แต่หลังจากทำเคสแรกสำเร็จ กลายเป็นว่ามันน่ากลัวน้อยกว่าที่ผมคิดไว้เยอะเลย”

 

เส้นทางที่ทั้งยาวและคดเคี้ยว

ทพ. ไชยรัตน์ เฉลิมรัตนโรจน์ นายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ พ... วิชาชีพทันตกรรมของประเทศไทย จะไม่ได้ห้ามทันตแพทย์ทั่วไปจากให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน แต่ภายใต้ระบบการศึกษาระดับปริญญาตรีปกติ สิ่งที่นักศึกษาวิชาชีพทันตกรรมจะได้รับเป็นเพียงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดฟัน โดยได้ลงมือปฏิบัติในการจัดฟันแบบง่าย ๆ ด้วยเครื่องมือแบบถอดได้ ในผู้ป่วย 1-2 รายเท่านั้น

การจะเป็นทันตแพทย์จัดฟันได้นั้น หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 6 ปีแล้ว ทันตแพทย์ทั่วไปจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะทางต่อ ในหลักสูตรเต็มเวลาเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 2 ปี

ปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยเพียง 7 แห่ง ที่ให้การฝึกอบรมวิชาทันตกรรมจัดฟัน โดยมักรับทันตแพทย์ทั่วไปเข้าศึกษาต่อเพียงปีละ 5-10 คนเท่านั้น นั่นแปลว่าจะมีทันตแพทย์จัดฟันที่สำเร็จการศึกษาเพียงปีละ 20-30 คน

ทพ. ไชยรัตน์ ซึ่งขณะเดียวกันยังดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงเหตุผลที่การฝึกอบรมเพื่อให้ได้เป็นทันตแพทย์จัดฟันมีจำนวนค่อนข้างจำกัด ว่าเป็นเพราะ “ต้องการให้ได้ทันตแพทย์จัดฟันที่มีคุณภาพสูง”

ทั้งนี้ การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางนี้ จะอยู่ภายใต้การดูแลของราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ระยะเวลาฝึกอบรมกว่า 3 ปี นักศึกษาจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมด้วยการปฏิบัติงานจริงในคลินิกและต้องทำการจัดฟันให้กับคนไข้จริง  ๆ มากกว่า 50 คน ก่อนที่จะได้รับวุฒิบัตรสาขาทันตกรรมจัดฟันจากทันตแพทยสภา

ภายหลังเรียนจบปริญญาตรีคณะทันตแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทพญ. สมจิตใช้เวลาอีก 2 ปีในการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านการทันตกรรมจัดฟัน โดยใช้เวลาว่างระหว่างทำงานในคลินิกทำฟันของเอกชนอ่านหนังสือ ปีแรก เธอยื่นใบสมัครไปยัง 4 มหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับเลือก ปีที่สอง เธอยื่นใบสมัครไปถึง 6 มหาวิทยาลัย และได้รับเลือกให้เข้าเรียนในภาควิชาทันตกรรมจัดฟันของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากจำนวนผู้ที่ยื่นใบสมัครในปีนั้นถึง 80 คน

“เวลา 2 ปีถือว่าไม่มากเลย เป็นเวลาเฉลี่ยในการสอบเข้าเรียนต่อวิชาทันตกรรมเฉพาะทางนี้ เพราะบางคนต้องบินไปสอบทั่วประเทศ และใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะสอบเข้าสำเร็จ”

ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอต้องเข้าเรียนจากวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างแปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น นอกจากนี้ ช่วงสุดสัปดาห์ เธอจะยังต้องไปทำงานที่คณะ เพื่อรักษาคนไข้กว่า 60 คน ภายใต้การดูแลของอาจารย์ แม้ถึงปัจจุบัน เธอก็ยอมรับว่ายังรู้สึกกังวลเสมอหากต้องมาเจอกรณีที่เห็นว่ายาก

“มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ ๆ ให้การศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ และคนที่ได้รับการศึกษาในระบบ ก็คือคนที่ต้องการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการซึ่งตรงไปตรงมา”

 

การศึกษาในโรงเรียนเอกชน

เมื่อศูนย์ทันตกรรมจัดฟันสยามของ อดีตหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมจัดฟันของ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เปิดตัวขึ้นเมื่อกว่าทศวรรษก่อน มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับทอล์กออฟเดอะทาวน์ในแวดวงการทำฟัน

ปัจจุบัน ศูนย์ฯ นี้ย้ายไปตั้งอยู่บนถนนพระรามห้า ซึ่งเปิดให้บริการทั้งในฐานะคลินิกทำฟันและศูนย์ฝึกอบรม โดยแหล่งข่าวในวงการได้กล่าวกับทีมข่าว Spectrum ว่า มีเก้าอี้ทำฟันถึง 30 ตัวอยู่ในศูนย์ ให้บริการหลักสูตรอบรมเรื่องการจัดฟันโดยคิดค่าอบรมสูงสุดถึง 1,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของผู้เข้าอบรมต่อหัวข้อการอบรมนั้น ๆ

พล.ท. ทพ. พิศาล เทพสิทธา ซึ่งมีภาพปรากฎว่าเป็นผู้มอบประกาศณียบัตรให้กับผู้จบการศึกษาจากศูนย์ฯ นี้ เมื่อปี 2547 ในขณะที่ยังเป็นนายกแพทยสภา และปัจจุบันยังเป็นผู้สอนอยู่ที่ศูนย์ฯ นี้ด้วย กล่าวว่า การกระทำต่างๆ ของตัวเขา ทำไปในฐานะส่วนตัว โดยที่ทันตแพทยสภาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในพิธีมอบเกียรติบัตรดังกล่าว เพราะศูนย์ฯ นี้ ไม่ใช่สถาบันการศึกษาซึ่งได้รับการรับรองจากทันตแพทยสภา หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

แต่ในขณะที่ศูนย์ฯ นี้ มีชื่อเสียงค่อนข้างดีในแวดวงการทำฟัน โรงเรียนทันตกรรมเอกชนอื่นๆ กลับไม่ได้รับการยอมรับในระดับที่ใกล้เคียงกันเลย

ทพ. ไชยรัตน์ จากสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลักสูตรการอบรมส่วนใหญ่มักใช้เวลาในการอบรมเพียง 1-2 วันเท่านั้น ในขณะที่บางหลักสูตรที่จัดอบรมในลักษณะพาร์ทไทม์ใช้เวลาในการอบรม 2 ปี อย่างไรก็ตาม ไม่ทุกหลักสูตรที่จะมีการฝึกอบรมด้วยการปฏิบัติงานจริงในคลินิก นอกจากนี้ จำนวนอาจารย์ผู้สอน จำนวนคนไข้ รวมถึงระยะเวลาในการดูแลคนไข้ ก็มีความไม่แน่นอน

หลักสูตรการอบรมที่ถูกนำเสนอโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ซึ่งถูกส่งต่อผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ซึ่งทีมข่าว Spectrum ได้เห็น เสนอค่าเล่าเรียนสำหรับการอบรมอยู่ที่รายละ 300,000 บาท และหากมีภาคปฏิบัติด้วย จะคิดเพิ่มอีกรายละ 250,000 บาท โดยการอบรมครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นที่ จ.สระบุรี และแม้จะให้รายละเอียดว่าการอบรมดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 2 ปี แต่บทเรียนต่างๆ มักเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน นั่นแปลว่าตลอดทั้งหลักสูตรจะใช้เวลาในการเรียนเพียง 24 วันเท่านั้น

 

ความต้องการที่เพิ่มขึ้น

แม้ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการว่าจำนวนคนไทยที่เข้ารับการจัดฟันในปัจจุบันมีมากน้อยเพียงใด แต่ข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2532 ระบุว่า เด็กไทยที่มีอายุสิบสองปีถึง 12% มีฟันที่เรียงไม่เป็นระเบียบ ซึ่งอาจต้องการการจัดฟัน

“ข้อมูลดังกล่าวยังจริงจนถึงวันนี้” ทพ. ทรงวุฒิ ตวงรัตนพันธ์ กรรมการทันตแพทยสภากล่าว และว่า “แต่ช่วงระยะเวลา 10 ปีหลัง เด็กไทยเข้ารับการจัดฟันด้วยเหตุผลเรื่องความสวยความงาม มากกว่าเหตุผลทางการแพทย์”

ข้อมูลของทันตแพทยสภา ระบุว่า ในปัจุจบัน ประเทศไทยมีจำนวนทันตแพทย์ทั่วไปถึง 15,000 คน เพิ่มขึ้นจากในปี 2549 ที่มีจำนวนเพียง 9,500 คน โดยในจำนวนนี้กว่า 600 คนเป็นทันตแพทย์จัดฟัน แต่คนที่ได้รับวุฒิบัตรสาขาทันตกรรมจัดฟันจากทันตแพทยสภามีเพียง 229 คนเท่านั้น

การแข่งขันทางธุรกิจการจัดฟันเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคลินิกทำฟันหลายแห่งได้เสนอโปรโมชั่นที่จูงใจลูกค้าซึ่งต้องการจัดฟันด้วยเหตุผลทางการแพทย์ คลินิกทำฟันใกล้สถานีรถไฟฟ้าแบริ่งแห่งหนึ่งยื่นข้อเสนอที่เรียกว่า “โปรโมชั่นศูนย์บาท” ที่หมายถึงว่าลูกค้าไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสักบาทสำหรับการเข้าตรวจช่องปากสำหรับทำเหล็กจัดฟัน แต่จะต้องจ่ายเงิน 3,500 บาท ในการนัดหมายเพื่อใส่เหล็กจัดฟันครั้งแรก รวมถึงจ่ายเพิ่มอีกครั้งละ 1,400 บาทสำหรับการนัดหมายอีก 26-30 ครั้งถัดไป

ทพ. ทรงวุฒิ กล่าวว่า “เราต้องยอมรับว่าความต้องการจัดฟันที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทันตแพทย์ทั่วไปจำนวนไม่น้อยกระตือรือร้นที่จะได้ทักษะในการจัดฟัน ซึ่งหากพวกเขาไม่สามารถเข้ารับการศึกษาตามระบบได้ ก็จะเข้าไปเรียนกับโรงเรียนของเอกชนแทน”

เขามองว่า หลักสูตรการอบรมที่สอนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเกษียณแล้วได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลา 3 ปีหลัง ทำให้เกิดหลักสูตรการอบรมในลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การศึกษาตามระบบ

ทพ. ทรงวุฒิให้นิยามหลักสูตรการอบรมซึ่งจัดขึ้นโดยภาคเอกชน ว่าเป็น “การศึกษาต่อเนื่อง” ซึ่งทันตแพทยสภาจะไม่ประณามการเกิดขึ้นของหลักสูตรเหล่านี้ เพราะใครที่จบจากสถาบันการศึกษาของเอกชนก็มีโอกาสที่จะทำงานจัดฟันได้ แม้จะไม่ได้วุฒิบัตรสาขาทันตกรรมจัดฟันจากทางทันตแพทยสภาก็ตาม

ทันตแพทย์ทั่วไปสามารถติดป้ายโฆษณาบริการจัดฟันด้านหน้าคลินิกของพวกเขาเอง แต่ต้องเขียนงานที่ให้บริการทุกสาขาที่ให้บริการด้วยตัวอักษรที่เท่ากัน ขณะที่การโฆษณาคลินิกว่าเป็นศูนย์จัดฟัน จะใช้ได้เฉพาะกับทันตแพทย์จัดฟันที่ได้รับวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรจากทันตแพทยสภาเท่านั้น

“เราไม่สามารถห้ามไม่ให้ทันตแพทย์ต่างๆ เข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับการจัดฟันได้ แต่เราจะบอกเสมอถึงข้อจำกัดที่พวกเขามีอยู่”

ระหว่างปี 2556 – 2559 ทันตแพทยสภาได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 40 คำร้อง โดยมี 14 คำร้องที่เกี่ยวข้องกับการจัดฟัน และกว่า 80% ของคำร้องเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับผลของการจัดฟันที่ไม่ได้ดำเนินการโดยทันตแพทย์จัดฟัน ซึ่ง ทพ. ทรงวุฒิระบุว่า กรณีดังกล่าวเนื่องจากคนไข้ยังอยู่ในขั้นตอนการรับการรักษาจึงยากที่จะบอกว่าเป็นการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีบางคำร้องที่ระบุถึงมารยาทของตัวทันตแพทย์ ไม่ใช่คุณภาพการรักษา

 

ยอมรับความเสี่ยง

หนึ่งในสถานการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับ ทพญ. สมจิตที่สุด เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เมื่อคนไข้เข้ามาขอความเห็นจากเธอ หลังเข้ารับการจัดฟันจากทันตแพทย์อีกคนเป็นเวลาปีกว่าแล้ว แต่ไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ

เธอตัดสินใจว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้น “ทุกอย่างแย่หมด” พร้อมแจ้งกับคนไข้ไปว่าจะต้องนำอุปกรณ์ทั้งหมดออกจากปากและเริ่มติดเครื่องมือใหม่ โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 45,000 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่เธอคิดจากคนไข้ตามปกติกว่า 10,000 บาท เนื่องจากความยุ่งยากในการดำเนินการ

“พอคนไข้ได้ยินตัวเลขค่าใช้จ่าย เธอก็น้ำตาคลอ และบอกว่าไม่มีเงินเหลือพอที่จะจ่าย เพราะที่เดิมจ่ายเยอะมากแล้ว จึงแนะนำให้เธอไปเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐแทน”

ถึงวันนี้ ทพญ. สมจิตซึ่งทำงานอยู่ในคลินิกถึง 6 แห่ง ที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี พบกับคนไข้จำนวนมากที่ต้องการความเห็นเพิ่มเติมจากเธอว่าพวกเขาได้รับการจัดฟันที่ถูกต้องหรือไม่ กรณีที่พบส่วนใหญ่มันเป็นการสบฟันที่ผิดปกติรวมไปถึงการรักษาที่ไม่ค่อยคืบหน้า แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของกรณีนั้นๆ

“ประเด็นคือ หมอที่ไม่ได้จบเฉพาะทาง เขาสามารถแยกได้หรือไม่ว่าอันไหนยากง่าย เพราะบางเคสอาจดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายเลย ซึ่งการวินิจฉัยที่ผิดพลาดดังกล่าวสามารถนำไปสู่การรักษาที่ผิดพลาด เช่น บางกรณีจำเป็นต้องทำการผ่าตัด แต่หมอกลับตัดสินใจที่จะไม่ผ่าตัด”

ด้าน ทพ. ไชยรัตน์ จากสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย มองว่า ปัญหาของการที่ทันตแพทย์ทั่วไปมาให้บริการจัดฟันด้วย พบในทุกประเทศ และวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือให้ความรู้กับคนไข้ที่จะเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์จัดฟันโดยตรง

“เราจะไม่กังวลอะไรเลย หากทันตแพทย์ทั่วไปยังสามารถให้การรักษาที่ถูกต้องได้ เพราะสิ่งที่เราห่วงใยลำดับต้นๆ ก็คือสุขภาพที่ดีของคนไข้ที่เข้ารับการจัดฟัน”

ทั้งสมาคมทันตแพทย์จัดฟันฯ และทันตแพทยสภา ต่างกระตุ้นให้สาธารณชนช่วยกันตรวจสอบคุณสมบัติของทันตแพทย์ตัวเองว่ามีความเหมาะสมกับบริการที่กำลังให้อยู่หรือไม่

ทพญ. สมจิต ระบุว่า คนไข้ของเธอหลายคนมองว่า ทันตแพทย์ทุกคนที่ให้บริการจัดฟันต่างเป็นทันตแพทย์จัดฟันในระบบ และพวกเขาก็มักจะแปลกใจที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองบริโภคฉบับใดมาบังคับให้ทันตแพทย์ทั่วไปที่มาให้บริการรับจัดฟันต้องแสดงตัวว่า “ไม่ใช่ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจัดฟันโดยตรง”

“ถ้าคนไข้รู้ว่าผู้ให้บริการพวกเขาเป็นเพียงทันตแพทย์ทั่วไป แล้วยังยอมรับความเสี่ยงนั้นอยู่ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะยุติธรรมกับทุกฝ่าย”

แต่ ทพ. โจ ทันตแพทย์ทั่วไปที่ให้บริการรับจัดฟันด้วย ยังคงยอมรับว่าบริการรับจัดฟันไม่ใช่สิ่งที่ยุ่งยากเหมือนที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุ โดยประเมินว่า 90% ของคนไข้ที่ต้องการจัดฟันไม่ใช่กรณีที่มีความซับซ้อน

“หมอในระบบจะโฆษณาชวนเชื่อว่า คนไข้ที่จะเข้ารับการจัดฟันต้องได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์จัดฟันในระบบเท่านั้น” เขาระบุ และว่า “ทั้งที่จริง ๆ แพทย์ทุกคนต่างรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้แค่ไหน และต่างก็กลัวที่จะถูกฟ้องทั้งนั้นแหละ”

รายงาน​พิเศษ ​เรื่อง​การให้บริการ​จัดฟันโดย​ทันตแพทย์ทั่วไป​กับผลกระทบที่เกิดขึ้น​กับ​ผู้​ป่วย​จัดฟันในปัจจุบั​น​ จากหนังสือพิมพ์​ Bangkok Post เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2559

ทั้งนี้​ รศ.ดร.ทพ.ไชย​รัตน์​ เฉลิม​รั​ตน​โรจน์​ นายก​สมาคม​ทันตแพทย์​จัด​ฟัน​แห่ง​ประเทศไทย​ ได้​ให้สัมภาษ​ณ์ประกอบ​ในบทความนี้ด้วย​ครับ​

ติดตาม​อ่าน​บทความ​ฉบับ​เต็ม​ได้ที่นี่ครับ

คลิกที่นี่เพื่อ​อ่านบทความ

ที่มา: Bangkok Post

คำแปลข่าว “A kick in the teeth” ของนันท์ชนก วงษ์สมุทร์ ผู้สื่อข่าวเซ็กชั่น Spectrum ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2559